หลั่งเร็ว

เรื่อง : นพ. พูนศักดิ์ สุชนวณิช (สูตินรีแพทย์)


หลั่งเร็ว

อาการหลั่งเร็ว หรือ Premature ejaculation นั้นพบได้บ่อยถึงร้อยละ 30-40 ของชายวัยเจริญพันธุ์ และสร้างความเดือดร้อนทั้งกับตัวคุณผู้ชายเอง รวมไปถึงคุณผู้หญิงที่เป็นคู่นอน ให้เกิดเป็นปัญหาร้าวฉานทางความสัมพันธ์ตามมาอย่างมากมาย ถึงแม้โรคนี้จะเป็นกันมาก แต่ที่เป็นคนไข้มาปรึกษาแพทย์จริงๆจังๆ นั้นกลับมีน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะฝ่ายชายไม่ตระหนักถึงปัญหา อายที่จะมาพบแพทย์ บางรายงานเชื่อว่าภาวะนี้อาจเป็นกันชุกถึงร้อยละ  75 เลยทีเดียว

อาการหลั่งเร็วหมายถึง การที่ฝ่ายชายไม่สามารถหน่วงเหนี่ยวการหลั่งน้ำอสุจิได้นานพอที่จะทำให้ฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอด ซึ่งเกิดบ่อยถึงอย่างน้อยร้อยละ 5 ของการมีเพศสัมพันธ์

ใครบ้างที่ถือว่าหลั่งเร็ว

เกณฑ์ในการวินิจฉัยอาการหลั่งเร็ว ยึดหลักสำคัญ 3 ประการได้แก่

 1. เกิดการหลั่งน้ำอสุจิขึ้น หลังจากมีการกระตุ้นทางเพศแต่เพียงเล็กน้อย โดยอาจเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการสอดใส่  ในขณะที่สอดใส่หรือเพียงระยะเวลาสั้นๆ หลังการสอดใส่เท่านั้น

 2. ก่อให้เกิดปัญหาความหงุดหงิดอารมณ์ ไม่พึงพอใจอันกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส หรือ คู่นอน

 3. อาการหลั่งเร็วนี้ ต้องไม่เกิดจากผลของยาหรือสารเคมีบางชนิดที่ร่างกายได้รับ

 สาเหตุของการหลั่งเร็ว

 แบ่งออกกว้างๆ ได้เป็น 2 สาเหตุ ทั้งปัญหาจากร่างกายและจิตใจ

 1. โรคทางร่างกาย โดยเฉพาะที่ระบบประสาท ภาวะการอักเสบของต่อมลูกหมากในบางราย การที่ผิวหนังบริเวณปลายองคชาตไวต่อการกระตุ้นมากผิดปกติ รวมไปถึงอาจเป็นผลต่อเนื่องจากความบกพร่องในการแข็งตัวขององคชาตเอง ทำให้คนไข้หลั่งน้ำอสุจิเร็วเนื่องจากกลัวองคชาตจะอ่อนตัวก่อนถึงจุดสุดยอด เป็นต้น

 2. สาเหตุทางจิตใจ เช่น ความกลัวต่อช่องคลอด ความขัดแย้งทางจิตใจที่มีต่อคู่นอน ความวิตกกังวลและกลัวการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่หลั่งเร็วเพราะปัญหาทางจิตใจนั้น มักจะเป็นคนอายุน้อย จึงเชื่อว่าความสามารถในการควบคุมการหลั่งน้ำอสุจินั้นจะพัฒนาไปตามอายุ และ ประสบการณ์ทางเพศ คล้ายกับภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก ซึ่งจะหายไปเองเมื่ออายุมากขึ้น เพราะการควบคุมปัสสาวะพัฒนาดีขึ้นนั่นเอง

 การรักษาอาการหลั่งเร็ว

มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนไข้มีความอดทนในการหลั่ง หรือพยายามลดความรู้สึกที่ไวต่อสิ่งเร้าให้น้อยลง

                 1. การรักษาเชิงพฤติกรรม โดยแนะนำวิธีปฏิบัติต่างๆ เช่น ให้หยุดการเคลื่อนไหวเป็นครั้งคราว, ให้ถอนองคชาตออกจากช่องคลอดชั่วคราวแล้วใช้นิ้วบีบปลายองคชาต, ฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูดคล้ายกับการกลั้นปัสสาวะ, ให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งต่อไปเพื่อควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิครั้งใหม่ให้ยาวนานขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนท่าทางขณะมีกิจกรรม ให้ฝ่ายชายอยู่ล่างหรือตะแคงจะดีกว่าท่าปกติที่ผู้ชายอยู่บน เพราะทำให้หลั่งอสุจิเร็วมากที่สุด แม้กระทั่งให้สวมถุงยางอนามัย ก็อาจช่วยให้ดีขึ้นในบางราย

                 2. โปรแกรมฝึกฝนซ้ำๆ ที่เรียกว่าเทคนิคการบีบตัวและหยุดพัก (Squeeze and pause technique) ซึ่งแนะนำว่าหลังจากเล้าโลมจนองคชาตตื่นตัวดีแล้ว ให้บีบปลายองคชาตให้แน่น 3-5  วินาที จากนั้นพัก 5-10 นาที จึงกระตุ้นใหม่อีก เพื่อฝึกความอดทนมากขึ้น จากนั้นจึงขยับสะโพกไปจนเสียวสุดจะทนไหวแล้วให้รีบถอนองคชาตใช้นิ้วบีบปลายองคชาตดังกล่าว ซึ่งนับว่าทรมานและซาดิสม์กับคุณผู้ชายเป็นอย่างมาก

                 3. การใช้ยารับประทานและยาทาเฉพาะที่ ในกรณีที่ 2 วิธีแรกไม่ได้ผล จะรักษาโดยยารับประทานกลุ่มเดียวกับที่ใช้ในคนไข้ทางจิตและโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจให้ยารับประทานต่อเนื่องหรือเป็นครั้งคราว 3-4  ชั่วโมง ก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ โดยอาจมีอาการข้างเคียงของยาคือ ปากแห้ง ง่วงซึม ท้องผูก หรือคลื่นไส้อาเจียน ได้บ้าง

                 แม้ว่าอาการหลั่งเร็วนั้น จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการดำเนินชีวิตคู่เป็นอย่างมาก คุณผู้ชายที่ประสบปัญหานี้ จึงไม่ควรอาย และรีบหาทางรักษา

ขอขอบคุณ บริษัทเฮลท์ แชนแนลจำกัดที่ให้การสนับสนุนข้อมูล

Reference

1. นพ. พูนศักดิ์ สุชนวณิช, “Health Channel  Magazine”, issue 36 Nov 2008,40.