การพัฒนาของทรวงอก (Breasts development)

การพัฒนาของทรวงอก (Breasts development)
โครงสร้างของเต้านม

เต้านมไม่มีกล้ามเนื้อแต่ถูกตั้งอยู่บนกล้ามเนื้อเหนือกระดูกซี่โครง ประกอบด้วยท่อน้ำนม ต่อมน้ำนม โดยมีไขมันแทรกอยู่ระหว่างท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม มีเส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองอยู่ด้วย เต้านมแต่ละข้างจะมีท่อน้ำนมและต่อมน้ำนมแตกแขนงอยู่เป็นกลุ่มๆ มีอยู่ประมาณ 15-20 พู(lobes) เรียงตัวลักษณะคล้ายกลีบดอกเดซี่ แต่ละพู(lobes) ก็จะมีกลุ่มของต่อมน้ำนม(lobules)อยู่จำนวนมาก ซึ่งต่อมน้ำนมเล็กๆเหล่านั้นอยู่ปลายสุดของท่อน้ำนมและมีหน้าที่สร้างน้ำนม  ต่อมน้ำนมทั้งหมดในหนึ่งพู(lobes)จะถูกเชื่อมต่อโดยท่อน้ำนมท่อเดียวกัน และท่อน้ำนมจากแต่ละพู(lobes)จะรวมกันไปสู่หัวนมซึ่งเป็นทางออกของน้ำนม

 เต้านมจะมีการพัฒนาอยู่ 3 ช่วง คือ การพัฒนาก่อนคลอดจากครรภ์มารดาเป็นการพัฒนาระบบการสร้างน้ำนมในเด็กหญิงเบื้องต้น จากนั้นจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต โดยเมื่อรังไข่เริ่มหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน(estrogen) จะทำให้เกิดการเจริญ แตกตัวของท่อน้ำนมยาวขึ้น มากขึ้น เกิดเป็นแขนงของท่อน้ำนมที่แยกเป็นกลุ่มๆ(lobes) และมีการสะสมไขมันทำให้เต้านมขยายตัว จะเป็นการพัฒนาในระดับหนึ่งแล้วหยุดพัก รอการพัฒนาอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ซึ่งจะเป็นช่วงที่เต้านมพัฒนาเต็มที่สำหรับการสร้างน้ำนม นอกเหนือจากนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเต้านมซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงมีประจำเดือน และเมื่อเข้าสู่วัยทอง

 ในช่วงที่รอบประจำเดือนเริ่มขึ้น ช่วงครึ่งแรกของรอบเดือนรังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้นมีผลกระตุ้นการเจริญของท่อน้ำนม ให้แตกตัวยาวเพิ่มขึ้น มีการตกไข่ ช่วงครึ่งเดือนหลังฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงแต่มีโฮร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นแทน มีผลกระตุ้นการเจริญของท่อน้ำนมให้แตกกิ่งเล็กๆ ต่อมน้ำนมที่อยู่ปลายท่อน้ำนมเจริญขึ้น ดังนั้นในช่วงที่มีการตกไข่จะพบว่าเต้านมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเตรียมตัวของเต้านมสำหรับการตั้งครรภ์ หากไม่ตั้งครรภ์เต้านมก็จะกลับคืนสู่ขนาดปกติ จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่รอบประจำเดือนใหม่
 การเปลี่ยนแปลงของเต้านมเมื่อเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ จะสมบูรณ์ภายในเวลา 5-6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เริ่มจากการเจริญของเต้านมลักษณะเดียวกับเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะกระตุ้นการเจริญของท่อน้ำนมให้แตกตัวยาวขึ้น มากขึ้น(เกิดกลุ่มของท่อและต่อมน้ำนม(lobes)มากขึ้น) จากนั้นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะกระตุ้นการเจริญของท่อน้ำนมที่ยาวขึ้นแล้วให้แตกกิ่งก้านเล็กๆ และต่อมน้ำนมที่อยู่ปลายท่อน้ำนมเจริญมากขึ้น และมีฮอร์โมนอื่นๆอีกหลายชนิดโดยเฉพาะ prolactin ช่วย กระตุ้นให้ต่อมน้ำนมเจริญเต็มที่พร้อมสำหรับการสร้างน้ำนม
 วัยทองเริ่มขึ้นในช่วงอายุประมาณปลายอายุ 40 ถึงต้นอายุ 50 ปี ระยะนี้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะเริ่มไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงอย่างมาก ทำให้เกิดอาการต่างๆ ในวัยทอง ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อเต้านมจะกระตุ้นน้อยลงด้วย ทำให้เต้านมเริ่มฝ่อ ขาดความเปล่งปลั่ง ยืดหยุ่น และหย่อนคล้อย เสียรูปทรง  ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน อาจพบเต้านมมีลักษณะ อาการเหมือนช่วงที่ยังมีประจำเดือน แต่สำหรับปัญหาหย่อยคล้อยของเต้านมหากเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถกลับคืนได้เมื่อทานฮอร์โมนทดแทน

 การพัฒนาของเต้านมจะสัมพันธ์กับอายุ สามารถแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้ดังนี้ ระยะพัฒนาของท่อและต่อมน้ำนม(lobule development) จะอยู่ในช่วงอายุ 10-25 ปี  ระยะพัฒนาต่อมน้ำนม ซึ่งเป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนในแต่ละรอบเดือน พบในช่วงอายุ 13-45 ปี ระยะกลับคืน หรือฝ่อตัวของท่อน้ำนม ซึ่งจะเริ่มพบในช่วงอายุประมาณ 35 ปี และพบมากขึ้นตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น
 จากความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจนและการเจริญของเนื้อเยื่อเต้านม จึงไม่น่าแปลกใจที่ กวาวเครือขาว ซึ่งมี phytoestrogen หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืช ได้รับความสนใจอย่างมาก ในเรื่องที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยให้เนื้อเยื่อเต้านมขยายตัว เปล่งปลั่ง ยืดหยุ่นได้ดี โดยเฉพาะหญิงวัยกลางคน ซึ่งจะเริ่มพบปัญหาลักษณะ และรูปทรงของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการของหญิงวัยทองจากการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจน และตรงกับตำรายาแผนโบราณของไทยที่ระบุว่า กวาวเครือขาวถือเป็นยาอายุวัฒนะช่วยคงความหนุ่มสาวไว้ได้

เอกสารอ้างอิง
1.Ohio State University Medical Center : http://medicalcenter.osu.edu/patientcare/healthinformation/otherhealthtopics/BreastHealth
2.Brisken Cathrin.Genetic dissection of signaling pathways important in breast development and breast cancer: http://www.isrec.ch/research/groups/research_groups_detail_eid_1692_lid_2.htm
3.www.pharmacy.mahidol.ac.th/NANA/2004-11-19-peuraria.pdf