นวัตกรรมสมุนไพรแก้ปวด : เถาวัลย์เปรียง เทียบเคียงยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน
|
|
ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน การใช้สมุนไพรมีบทบาทการนำมาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น มีงานวิจัยเพื่อหาทางเลือกใหม่ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้ป่วยโรคข้อและกล้ามเนื้ออักเสบ งานวิจัยที่ศึกษา Derris scandens หรือ "เถาวัลย์เปรียง" ในหลายๆฉบับได้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่น่าสนใจของสมุนไพรชนิดนี้ในบทบาทของการเป็นยาต้านการอักเสบ โดยมีการเปรียบเทียบกับยา Naproxen และยา Diclofenac ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบแผนปัจจุบันในกลุ่ม NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
|
|
ทำความรู้จักกับ เถาวัลย์เปรียง
|
|
มีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อย แก้กษัย ถ่ายเส้น(5) เป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้ในตำรับยาแผนโบราณมาช้านาน
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Derris scandens (Roxb.) Benth.
ชื่อภาษาอังกฤษ : Jewel vine
มีกลไกการออกฤทธิ์ผ่านการยับยั้งเอนไซม์ Cyclooxygenase (COX) และ Lipoxygenase (LOX) ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับ Naproxen ในการลดการอักเสบ ซึ่งในงานวิจัยมีผลการทดลองในมนุษย์แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงช่วยลดการบวมในข้อและปรับปรุงความยืดหยุ่นของข้อในกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม(1)
สารสำคัญที่พบในพืชชนิดนี้ ได้แก่ Coumarins, Isoflavones เช่น Genistein, Phenolic compounds เช่น Scandenin สารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านจุลชีพ ซึ่งทำให้ เถาวัลย์เปรียง มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการรักษาโรคข้อและกล้ามเนื้ออักเสบได้(2)
|
|
การศึกษาประสิทธิภาพเทียบกับ Naproxen(3)
การทดลองเปรียบเทียบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการลดอาการปวดและอักเสบในผู้ป่วย โดยวัดเป็นระดับความเจ็บปวด รวมถึงศึกษาความปลอดภัย ในกลุ่มเป้าหมาย 107 คน ระหว่างสารสกัด เถาวัลย์เปรียง และยา Naproxen พบว่า
- การใช้สารสกัดเถาวัลย์เปรียง ในปริมาณที่เหมาะสม สามารถลดคะแนนความปวดได้ใกล้เคียงกับ Naproxen
- ในผู้ป่วยที่ใช้ เถาวัลย์เปรียง ระยะเวลา โดยประเมินผลที่ระยะเวลา 0,2,4 สัปดาห์ พบว่าอาการปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นข้อเสียสำคัญของ Naproxen
|
|
การศึกษาประสิทธิภาพเทียบกับ Diclofenac(4)
ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบโดยมีการทำการประเมิน คุณภาพชีวิตด้วยแบบสอบถาม WOMAC โดยการประเมินระดับความปวด ระดับอาการข้อฝืด และระดับความสามารถในการใช้งานข้อเข่า ในกลุ่มเป้าหมาย 60 คน ระหว่างสารสกัด เถาวัลย์เปรียง และยา Diclofenacพบว่า
- การใช้สารสกัดเถาวัลย์เปรียงในผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม สามารถลดอาการปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตในการ ทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุได้ และมีประสิทธิผล ในบรรเทาอาการปวด ข้อฝืดและยึด และความสามารถในการใช้ข้อ เทียบเท่ายา Diclofenac
- อาการข้างเคียงที่พบในการศึกษานี้ได้แก่ อาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยา Diclofenac ส่วนอาการข้างเคียงเกิดขึ้นหลังรับประทานยาเถาวัลย์เปรียงคืออาการเวียนศีรษะ ท้องผูกและอาการอื่นๆ
|
|
ความได้เปรียบของ เถาวัลย์เปรียง
- ความปลอดภัย: เถาวัลย์เปรียง มีความเสี่ยงต่ำกว่าต่อการเกิดผลข้างเคียง เช่น แผลในกระเพาะอาหารหรือภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร สารสกัดชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีประวัติความเสี่ยงสูงต่อปัญหาด้านระบบทางเดินอาหาร เช่นผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยสามารถใช้ต่อเนื่องในระยะยาวได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องผลข้างเคียงดังกล่าว
- ทางเลือกสำหรับผู้แพ้ยา: ผู้ป่วยบางกลุ่มที่แพ้ NSAIDs อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดเถาวัลย์เปรียง อาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
- สารสกัดจากธรรมชาติ : เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มองหาการรักษาอาการปวดข้ออักเสบ ด้วยสารสกัดจากธรรมชาติโดยเฉพาะสมุนไพรไทย
- ความยั่งยืน : เป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ง่ายในประเทศไทย เป็นการช่วยส่งเสริมการใช้สมุนไพรชนิดนี้ ทั้งยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนในประเทศอีกด้วย
|
|
จากการศึกษาการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ เถาวัลย์เปรียง กับยา Naproxen หรือ Diclofenac แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสมุนไพรไทยในการใช้รักษาอาการปวดและอักเสบ มากไปกว่านั้นการพัฒนาสารสกัดในรูปแบบยาครีมแก้ปวด ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น ลดอาการข้างเคียงจากการทานยาเม็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรคที่ต้องทานยาที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในจุดที่ต้องการได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้นด้วย
|
|
References
- Sae-Foo W, Yusakul G, Nualkaew N, Putalun W. Identification of major bioactive anti-inflammatory compounds of Derris scandens stem using RAW 264.7 cells and HPLC-UV analysis. Planta Med. 2024 Feb;90(2):126–137. doi: 10.1055/a-2192-2281.
- Madhiri R, Panda J. A review on phytochemistry and pharmacological aspects of Derris scandens (Roxb.) Benth. Int J Curr Pharm Res [Internet]. 2018;5(3):[about 7 pages]. Available from: https://www.sciencedirect.com
- Kuptniratsaikul, V., Dajpratham, P., Taechaarpornkul, W., Buntragulpoontawee, M., & Lukkanapichonchut, P. (2011). The efficacy and safety of Derris scandens Benth extracts in patients with knee osteoarthritis. Journal of Alternative and Complementary Medicine, [Internet]. 2011;17(8). Available from: https://www.liebertpub.com/doi/abs/10.1089/acm.2010.0213
- Khonglormyati J, Khunpra R. Effectiveness of Derris scandens (Roxb.) Benth. (Thaowan Priang) in elderly patients with knee osteoarthritis. J Thai Assoc Prev Me. 2019;9(3):304.
- Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University. สมุนไพรไม่ไกลตัว เรื่อง เถาวัลย์เปรียง [Internet]. Bangkok: Mahidol University; [cited 2025 Jan 23]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1578
- Puttarak, P., Sawangjit, R., & Chaiyakunapruk, N. (2016). Efficacy and safety of Derris scandens (Roxb.) Benth. for musculoskeletal pain treatment: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Journal of Ethnopharmacology, [Internet]. 2016 Dec;30(12):316-323. Available from: https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0378874116307553
|
|